เนื่องจากธรรมชาติของกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเรื่องของ “เงื่อนไข” ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ดีในแง่ของผู้เอาประกันภัยจะต้อง “ให้ความคุ้มครองสูง มีเงื่อนไขน้อยและเบี้ยประกันภัยไม่แพง” ความคุ้มครองสูงมี 2 ลักษณะคือโดยทางตัวเลขซึ่งมองเห็นได้ง่าย เช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่คุ้มครองกรณีไปชนคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 1,000,000.-บาท/คน ย่อมให้ความคุ้มครองสูงกว่ากรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเพียง 500,000.-บาท/คน และความคุ้มครองสูงในทางตัวหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนกว่ากันมาก เช่น กรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรมของสถานีบริการน้ำมันระบุว่าให้ความคุ้มครอง “…………………และน้ำมันเครื่อง” ย่อมมีความคุ้มครองที่แคบหรือน้อยกว่ากรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรมที่ระบุว่า “………………….และน้ำมัน” หรือกรมธรรม์ประกันภัยขนส่งทางทะเลระบุว่าให้ความคุ้มครอง “เมื่อสินค้าข้าวได้ขึ้นเรือเดินสมุทรหมดแล้ว” ย่อมมีความคุ้มครองแคบหรือน้อยกว่ากรมธรรม์ที่ระบุว่า “เมื่อสินค้าข้าวได้ขึ้นเรือเดินสมุทรแล้ว” เพราะเรือเดินสมุทรอาจจมเมื่อสินค้าข้าวได้ถูกขนขึ้นเป็นบางส่วนก็ได้ ปัญหามีว่ากรมธรรม์ที่ระบุว่าจะให้ความคุ้มครองเมื่อสินค้าได้ขึ้นเรือเดินสมุทรหมดแล้ว บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่? ดังนั้นคำว่า “หมด” ในที่นี้ย่อมจะมีความหมายเมื่อมีการตกลงค่าเสียหาย หรือถ้าไม่มีการซื้อประกันภัยแต่เป็นการทำสัญญาซื้อขายสินค้าข้าวทั่วไป ผู้ซื้อจะชำระเงินให้ผู้ขายหรือไม่? เหมือนผู้ซื้อสั่งให้ผู้ขายให้นำตู้เย็นไปติดตั้งที่ชั้นสองแต่ผู้ขายทำตู้เย็นตกเสียหายที่ชั้นหนึ่ง ผู้ซื้อจะชำระเงินค่าตู้เย็นหรือไม่?