การซื้อประกันภัยที่ถูกต้องคือ ให้พิจารณาความคุ้มครองหรือภัยที่กำลังเผชิญอยู่ (risk exposure) ให้เพียงพอก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณา เบี้ยประกันภัยเป็นเท่าใดในภายหลัง ไม่ใช่ดูเบี้ยประกันภัยถูกหรือแพง หรือให้ส่วนลดเท่าใดก่อน โดยไม่ได้สนใจอย่างจริงจังว่าความคุ้มครองเป็นอย่างไรหรือถ้อยคำที่ใช้ในกรมธรรม์เป็นอย่างไร? ตามที่ปฏิบัติกันในท้องตลาด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการซื้อประกันภัยที่ไม่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่ข้อโต้แย้งเมื่อเกิดการเคลม และทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยเสียหายในที่สุด การเสียเบี้ยประกันภัยที่อาจดูว่าถูกกว่าในตอนต้น อาจทำให้ต้องไปจ่ายแพงในภายหลังก็ได้ เพราะเคลมไม่ได้หรือได้ไม่เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวที่น่าสนใจว่า “ใจมีประกันแต่กรมธรรม์ไม่คุ้มครอง” มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องเบี้ยประกันภัย ดังนี้
จงระวังเบี้ยประกันภัยถูก ๆ
ย่อมไม่เป็นการฉลาดที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยที่สูงเกินไป
แต่เป็นการเลวร้ายยิ่งกว่าถ้าจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยที่ถูกเกินไป
เมื่อท่านจ่ายเบี้ยประกันภัยที่สูงเกินไป
ท่านสูญเสียเงินเพียงเล็กน้อย และก็เท่านั้นเอง
เมื่อท่านจ่ายเบี้ยประกันภัยที่ถูกเกินไป
บางทีท่านอาจสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะสิ่งที่ท่านซื้อนั้นไม่เป็นการเพียงพอ
ที่จะทำให้มันคุ้มค่ากับที่ถูกซื้อ
กฎสมดุลของการทำธุรกิจมีอยู่ว่า
ห้ามจ่ายเงินน้อย เพื่อจะได้มาก ๆ
มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าท่านให้งานกับผู้ที่ให้ราคาต่ำสุด
เท่ากับท่านได้เพิ่มการเสี่ยงภัยให้กับงานที่ท่านทำ
และถ้าท่านทำเช่นนั้น
ท่านจะต้องจ่ายเพิ่มมากในภายหลังเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า
ข้อที่น่าสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ ภาษาประกันภัยเป็นภาษากฎหมายแต่ไม่ได้หมายความว่านักกฏหมายจะเข้าใจประกันภัยได้ดีเท่ากับนักประกันภัยถ้าหากไม่ได้ทำประกันภัยเป็นอาชีพ สัญญาประกันภัย (insurance contracts) จะเป็นไปตามกฎหมายพื้นฐานซึ่งครอบคลุมสัญญาทุกประเภทหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คนหนึ่งอาจจะเชี่ยวชาญกฎหมายของสัญญาทั่วไปแต่อาจจะมีความรู้น้อยมากที่จะนำกฏหมายนี้มาใช้กับสัญญาประกันภัย เพราะสัญญาประกันภัยมีคุณลักษณะหลายอย่างมากที่ไม่พบในสัญญาประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการตั้งองค์กรพิเศษทางด้านกฎหมายเพื่อจัดการดูแลปัญหาต่าง ๆ ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย